เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ณ ทุ่งนาไพร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการปลูกข้าววันแม่ ประจำปี 2567 โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักเรียน และนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอกำแพงแสนและชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 5,000 คน
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยพิธีทำขวัญข้าว และกิจกรรมปลูกข้าวด้วยวิธีปักดำ ในพื้นที่นา 13.5 ไร่ จากนั้นมีกิจกรรมปล่อยปลาและปลูกไม้ป่าให้ดอก ได้แก่ เหลืองเชียงราย และเสลา จำนวน 584 ต้น เนื่องในวันพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามนโยบายมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CARBON NEUTRALITY) ในปี ค.ศ. 2035
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญของ “ข้าว” ซึ่งเป็นพืชมงคล และ “การทำนา” อาชีพหลักของคนไทยมาแต่โบราณกาล อีกทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และมีแนวโน้มที่ประชากรของโลก จะเพิ่มความนิยมในการบริโภคข้าวให้เป็นอาหารหลักมากขึ้น โดยข้าวยังเป็นสินค้าการเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศมาทุกยุคทุกสมัย จึงนับเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว และพันธุ์พืชต่างๆ ที่จะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีของชาติ รวมถึงผลกระทบจากภาวะโลกรวน มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนจากการทำนา ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม ลดและจัดการไนโตรเจนในพันธุ์ข้าว เพื่อให้เกิดศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ด้านรองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน ประธานโครงการ ฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้จัดทำโครงการปลูกข้าววันแม่ เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 19 มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ หลอมรวมกับความรู้ทางวิชาการด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผสมผสานกับภูมิปัญญาของชาวนาไทย ทำให้เกิดกิจกรรมปลูกข้าวในวันนี้ นอกจากจะตระหนักถึงประเพณีและวัฒนธรรมการปลูกข้าวของไทยแล้ว ยังหมายรวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้เป็นพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดของโลกอีกด้วย ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวที่ใช้เพาะปลูกสำหรับกิจกรรมในวันนี้ คือ ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ใช้วิธีการปลูกข้าวแบบปักดำ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์วิธีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม นับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวนาไทยที่มีประวัติและวิวัฒนาการยาวนานและอาจไม่ได้พบเห็นในปัจจุบันแล้ว
ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ เป็นพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาขึ้นโดยการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับข้าวขาวดอกมะลิ 105 (ข้าวหอมมะลิ)จากสถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) โดยเริ่มผสมพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาเขตกำแพงแสน จากการปรับปรุงสายพันธุ์ พร้อมวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ค้นพบข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยให้ชื่อพันธุ์ว่า “ไรซ์เบอร์รี่” เนื่องจากมีลักษณะเป็นสีม่วงแดงแบบผลเบอร์รี่ที่สุกแล้ว รูปร่างเมล็ดเรียวยาว เมื่อหุงเป็นข้าวเจ้า จะมีลักษณะเป็นสีม่วงเข้ม มีความนุ่มนวลแต่ยืดหยุ่น รสชาติอมหวาน มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้พันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน
ผู้สนใจพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หมายเลขโทรศัพท์ 086-4795603
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 2 ส.ค.67